คอนกรีตมวลเบาคืออะไร คอนกรีต คือ วัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่งที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในการก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคต่างๆ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนซีเมนต์เพสต์ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ น้ำ และสารเติมแต่ง และส่วนมวลรวม ได้แก่ หิน และทราย โดยทั่วไปแล้วคอนกรีตจะมีค่าความหนาแน่นประมาณ 2,400 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คอนกรีตมวลเบา คือ คอนกรีตที่มีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีตปกติ โดยมักมีค่าความหนาแน่นต่ำกว่า 1,750 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีการเพิ่มฟองอากาศในโครงสร้าง หรือมีการใช้วัสดุน้ำหนักเบา เช่น เม็ดเซรามิกมวลเบาแทนหิน ประเภทของคอนกรีตมวลเบา คอนกรีตมวลเบาสามารถแบ่งประเภทตามกระบวนการผลิตได้เป็น 3 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่
1 คอนกรีตมวลรวมเบา (Lightweight aggregate concrete) ใช้มวลรวมเบา เช่น เม็ดเซรามิกมวลเบา หินพัมมิส แทนการใช้หิน ทำให้ได้คอนกรีตเนื้อแน่น ที่มีน้ำหนักเบา ตัวอย่างเช่น แผ่นผนังคอนกรีตมวลเบาสำเร็จรูป
เม็ดเซรามิกมวลเบาใช้แทนหิน
cerawall
2 คอนกรีตพรุน (Aerated concrete) ผลิตโดยการทำให้เกิดฟองอากาศในเนื้อคอนกรีต ได้โครงสร้างที่มีรูพรุนขนาดเล็ก 0.1 – 1 mm รูปร่างคล้ายฟองน้ำ ทำให้ได้คอนกรีตที่มีน้ำหนักเบา ตัวอย่างเช่น อิฐมวลเบา
3 คอนกรีตไร้มวลรวมละเอียด (No-fines concrete) ละเว้นการใส่มวลรวมส่วนละเอียดหรือทรายในส่วนผสม ทำให้ได้คอนกรีตที่มีช่องว่างขนาดใหญ่ในโครงสร้าง สามารถระบายน้ำได้ดี ตัวอย่างเช่น บล็อคคอนกรีตปูทางเท้า